จริยธรรมในการตีพิมพ์ (Publication Ethics)
วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา คำนึงถึงมาตรฐานจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความทุกขั้นตอนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจริยธรรมของกองบรรณาธิการ จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคุณภาพบทความ และจริยธรรมของผู้เขียน โดยจะต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)
1) บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความตามหลักวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
2) บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
3) บรรณาธิการต้องตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้วโดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ 4) บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว 5) บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับช้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร 6) บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจังโดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น 7) หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมิน และ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้นๆ พร้อมชี้แจงเหตุผลต่อผู้เขียน
บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน (Duties of Authors)
1) ผู้เขียนต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการเสนอเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่น 2) ผู้เขียนต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยโดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ 3) ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นหากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในผลงานของตนเอง รวมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ 4) ผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน” 5) ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในผลงานวิชาการนั้นจริง 6) ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) 7) ผู้เขียนต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
1) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ 2) หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร และผู้ทรงคุณวุฒิมีความตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนจนไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ทรงคุณวุฒิควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ 3) ผู้ทรงคุณวุฒิควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาที่อยู่บนหลักวิชาการ ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน 4) หากผู้ทรงคุณวุฒิพบว่า บทความที่ประเมินมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีความเหมือนหรือซ้ำช้อนกับผลงานชิ้นอื่น ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ 5) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
|